- 11 AUGUST 2016
ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559
ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 เพื่อน้อมนำจิตใจของปวงชนชาวไทยให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ภาพด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์
ภาพด้านหลัง พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นภาพประธาน โดยมีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดาเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะทอดพระเนตรผลงานศิลปาชีพ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ภาพโขนพระราชทาน ชุด จองถนน ภาพกระเป๋าย่านลิเภาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ และภาพพรรณไม้ในพระนามาภิไธย คัทลียาควีนสิริกิติ์และกุหลาบควีนสิริกิติ์ เป็นภาพประกอบ
ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง
เช่นเดียวกับธนบัตรชนิดราคา 500 บาท แบบ 16
โดยเพิ่มลักษณะที่จัดทำขึ้นพิเศษ คือ ลายรัศมีเบื้องหลังพระฉายาสาทิสลักษณ์และภาพกุหลาบควีนสิริกิติ์ ในส่วนที่พิมพ์ด้วยหมึกพิเศษสีส้ม จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเรืองแสง เมื่อส่องภายใต้รังสีเหนือม่วง
ที่มา www.bot.or.th
-
25 OCTOBER 2012
ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ภาพประธานด้านหน้า พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเครื่องแบบจอมทัพภาพประธานด้านหลัง พระฉายาสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขนาด ๗.๒๐ x ๑๕.๐๐ เซนติเมตร วันประกาศออกใช้ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕ จ่ายแลก วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่มา www.bot.or.th
- 25 OCTOBER 2012
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเงินตรา
· โดยทั่วไป เงินจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ เงินเหรียญ เงินกระดาษ และเงินในบัญชี
- · ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งสู้ขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนแม้มีเงินมากก็ซื้อสินค้าได้จำนวนน้อย เป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับ ภาวะเงินฝืด
-
- · ชนิดราคาของธนบัตร ยิ่งมีจำนวนเลขศูนย์มาก ยิ่งแสดงว่าประเทศนั้นประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง
-
- · ค่าเงินแข็งตัว หมายถึง การที่ค่าเงินสกุลหนึ่งมีค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
- · เมื่ออยู่ในธนาคารหรือร้านแลกเงิน มักปรากฏรหัสของเงินตราแต่ละประเทศเป็นตัวอักษรละติน 3 ตัว ตัวอักษรเหล่านั้นคือ รหัส ISO 4217 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสกุลเงินที่ใช้ในประเทศต่างๆ โดยตัวอักษรได้มาจากชื่อประเทศรวมกับชื่อสกุลเงินทีใช้ในประเทศนั้นๆ เช่น เงินบาท-Thai Bath รหัส ISO 4217 คือ THB
- · มาตรฐานเงินตราแบ่งออกเป็น มาตรฐานเงินตราอิงโลหะมีค่า มาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่า และมาตรฐานผสมภายใต้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
- · การใช้มาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่า เกิดขึ้นในช่วงหลังปี ค.ศ. 1930 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ และประเทศต่างๆ ขาดแคลนโลหะ โดยมาตรฐานเงินตราที่ไม่อิงโลหะมีค่าประกอบด้วย มาตรฐานกระดาษ มาตรฐานปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และมาตราโภคภัณฑ์สำรอง
- · มาตรฐานปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ใช้หลักอ้างอิงกับเงินตราต่างประเทศ เช่น กรณีอิงกับเงินดอลลาร์ เรียกว่า มาตรฐานปริวรรตเงินดอลลาร์ เมื่อจะผลิตเงินกระดาษออกใช้ก็ต้องมีทุนสำรองเป็นเงินดอลลาร์ตามอัตราส่วนที่กฎหมายบัญญัติไว้
- · ธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเงินที่มีค่าไม่เต็มตัว หรือเรียกว่า เงินเครดิต เพราะธนบัตรทุกชนิดราคามีค่าในทางเป็นเงิน มากกว่าค่าของสิ่งของที่ทำเงินนั้นขึ้นมา เช่น ธนบัตรใบละ 100 บาท อาจมีราคาค่ากระดาษและค่าพิมพ์ไม่ถึง 5 บาท
- · ลายน้ำ กระดาษฟอยล์ ช่องใส ภาพซ้อนทับบนธนบัตร มีไว้เพื่อป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร
- · ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วได้พื้นที่บางส่วนไว้ในปกครอง จากนั้นได้ดำเนินการออกใช้ธนบัตรให้ดินแดนใต้อำนาจของตนใช้ร่วมกัน ดินแดนในคาบสมุทรมลายูเรียกเงินเหล่านี้ว่า เงินกล้วย ตามภาพต้นกล้วยที่ปรากฏบนธนบัตรชนิดราคา 10 ดอลลาร์
- · การรวมตัวของประชาชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community : AEC จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งมุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นตลาดและศูนย์กลางของฐานการผลิตโลก
- · ภายใต้ AEC จะมีการเคลื่อนย้ายเงินไปมาระหว่างประเทศมากขึ้น ประเทศต่างๆ 10 ประเทศจะสามารถชำระสินค้าและบริการข้ามประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก และเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง มีการเชื่อมโยงระบบเอทีเอ็มพูลให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สามารถใช้บัตรใบเดียวกดเอทีเอ็มได้ทุกที่ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
· ค่าเงินอ่อนตัว หมายถึง การที่ค่าเงินสกุลหนึ่งมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
· หลักของมูลค่าเงินเรียกว่า มาตรฐานเงินตรา เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ และกำหนดมูลค่าของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือหลายสิ่งเป็นมาตรฐาน
· โลหะมีค่าที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานเงิน ได้แก่ ทองคำและโลหะเงิน
· ลักษณะสำคัญของมาตรฐานกระดาษ ได้แก่ เป็นธนบัตรซึ่งมีมูลค่าไม่เต็มตัว ไม่สามารถนำเงินตราชนิดใดไปไถ่ถอนโลหะมีค่าได้ แลกกันได้เฉพาะกับธนบัตรด้วยกันเท่านั้น มีรัฐเป็นผู้เดียวที่สามารถผลิตเงินได้ และทำหน้าที่ควบคุมปริมาณการออกเงินอย่างใกล้ชิด
· มาตรฐานโภคภัณฑ์สำรอง อ้างอิงกับโภคภัณฑ์หลายชนิดของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ดีบุก
· ภาพใหญ่บนธนบัตรทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ภาพประธาน ส่วนภาพอื่นที่อยู่รอบภาพประธานเรียกว่า ภาพประกอบ
· ภาพซ้อนทับ คือภาพที่เมื่อมองจากด้านหน้า หรือด้านหลังธนบัตรเพียงด้านเดียวจะเห็นเป็นภาพเว้าแหว่ง จนยกขึ้นส่องไฟจึงจะเห็นภาพจากทั้งสองด้านของธนบัตรมาประกอบกันเป็นภาพสมบูรณ์ ธนบัตรที่ใช้เทคนิคนี้ เช่น ธนบัตรของประเทศอินโดนีเซียที่ใช้ตราสัญลักษณ์ธนาคารเป็นภาพซ้อนทับ
· เงินที่ออกใช้โดยญี่ปุ่นในบริเวณอื่น ได้แก่ พม่า เรียกว่า เจแปนนีสรูปี ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตซ์ เรียกว่าเจแปนนีสกิลเดอร์ และในฟิลิปปินส์ เรียกว่า เจแปนนีสสเปโซ ซึ่งส่วนใหญ่เงินดังกล่าวไม่ค่อยมีค่าและใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
· เพื่อให้การพัฒนา AEC ประสบความสำเร็จ จึงมีการหารือกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม ค.ศ. 2012 ที่จะให้มีธนาคารกลางอาเซียน โดยเป้าหมายหลักของธนาคารกลางอาเซียน คือกำกับดูแล อำนวยความสะดวก และให้บริการทางการเงินในประชาคมอาเซียน หลังการเปิดเสรีในปี ค.ศ. 2015
· ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังมีความพยายามที่จะใช้การแลกเปลี่ยนเงินตราโดยตรงด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอย่างที่เคยใช้ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่การจะรวมสกุลเงินเข้าไว้เป็นสกุลเดียวอย่างสกุลเงินยูโรของสหภาพยุโรปหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามในอนาคต
ที่มา หนังสือเงินตราในอาเซียน สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์